วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

หลวงปู่พระครูสว่าง สิริสุวณฺโณ วัดบนคงคาราม บางปะกง "อัตตะชีวะประวัติ เหรียญรุ่นแรก และวัตถุมงคลรุ่นต่างๆ"

เหรียญรุ่นแรกสร้างเมื่อปีพศ.๒๔๙๔ในการฉลองสมณศักดิ์ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครู มีเนื้อเงิน เงินกะใหล่ทอง อัลปาก้า ทองแดง ทองแดงกะใหล่เงิน ทองแดงกะใหล่ทอง ฯ หลวงพ่อสว่างท่านนี้เป็นสหธรรมมิกกับหลวงพ่อดิ่งวัดบางวัว เป็นลูกศิษย์ร่วมคณะเดินธุดงค์ติดตามหลวงพ่อปานวัดบางเหี้ยไปพระบาทสระบุรีมีสหธรรมมิกหลายท่านเช่นหลวง"พ่ออี๋วัดสัตหีบ" ก๋งหลิมวัดน้อย ก๋งเฉื่อยวัดล่าง เป็นต้น ฯ และยังเคยได้ศึกษาพุทธาคมกับหลวงปู่ศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่าเมื่อพศ.๒๔๖๒ครั้งที่ท่านมาปลุกเสกพระวัดหัวเนินแล้วล่องตามแม่น้ำมาปากอ่าวบางปะกงแวะพักวัดบนคงคารามฯ.

       ภาพหลวงปู่สว่าง สิริสุวณฺโณ ถ่ายเมื่อพศ. ๒๔๗๘
อัตตะชีวะประวัติ...หลวงปู่สว่างเป็นคนบางปะกงโดยกำเนิดเกิดที่หมู่บ้านบางปะกงบน เมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีระกา รศ.  ๑๐๔ ตรงกับวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๒๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ครั้งนั้น หมู่บ้านบางปะกงมีการปกครองขึ้นอยู่กับ อ.เมืองบางปลาสร้อย จ.ชลบุรี หลวงปู่สว่างใช้นามสกุล"อินทรโท" บิดาชื่อ "ขุนพิทักษ์ชลธี"(ทอง อินทรโท)อดีตนายด่านเก็บภาษีปากน้ำบางปะกง มารดาชื่อ นางพิทักษ์ชลธี(หวาด อินทรโท) ปู่ชื่อ"ขุนอินทรโท"(อินทร์ อินทรโท)อดีตนายด่านเก็บภาษีปากแม่น้ำบางปะกง ต้นสกุล"อินทรโท" หลวงปู่สว่างมีพี่น้อง ๔ คนคือ ๑,นางแฉ่ง ๒,นางฉ่อง เจนการค้า ๓,หลวงปู่สว่าง อินทรโท ๔,นายต่วน อินทรโท  เมื่อเยาว์วัย หลวงปู่ได้ศึกษาเบื้องต้นวิชามูลกัจจายกับท่านหลวงพ่อพระมหาขาว เจ้าอาวาสวัดบนคงคารามในขณะนั้น นร.รุ่นราวคราวเดียวกันก็คือท่านเจ้าคุณพระเทพวิมล (ชุ่ม ติสาโรมหาเถระ)อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ กรุงเทพฯ (ท่านเจ้าคุณชุ่มรูปนี้ เป็นคนบางวัว อายุแก่กว่าหลวงปู่สว่าง ๓ ปี เมื่อเป็นเด็กฆราวาสได้เคยมาเรียนวิชามูลกัจจายในสำนักเรียนพระมหาขาว วัดบางปะกงบน) เมื่อจบวิชามูลกัจจายแล้ว หลวงปู่สว่างได้เข้ารับการศึกษาต่อที่ รร.บวรวิทยายน ณ.วัดกลางบางปะกง โดยเป็นนักเรียนในสมัยเริ่มแรกของการก่อตั้งรร.บวรฯ เรียนจนสำเร็จชั้นมูลศึกษา ประโยคสองอักษรภาษาไทย มูลบทบรรพกิจ เมื่อพศ.๒๔๔๔ อายุได้ ๑๖ ปี             

    
ท่านเจ้าคุณพระเทพวิมล (ชุ่ม ติสาโรมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ กรุงเทพมหานคร



   ส่วนหนึ่งในอัตตะชีวะประวัติของท่านเจ้่าคุณชุ่ม ติสาโร กล่าวถึงเมื่อมาเรียนหนังสือที่วัดบางปะกงบน (คงคาราม)

ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ได้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร (เป็นทหารเรือ) เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๖ รับราชการอยู่ ๒ ปี พอปลดประจำการแล้วจึงได้มาอุปสมบทเมื่ออายุได้ ๒๑ ปี ณ.วัดบนคงคาราม เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๙ โดยมีหลวงพ่อพระอุปัชฌาย์แดง จนฺทสุวณฺโณวัดกลางบางปะกงเป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อจ้อย จนฺทโชโต รองเจ้าอาวาสวัดกลางบางปะกงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อเมือง ธมฺมปาโล เจ้าอาวาสวัดบนคงคารามเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า"สิริสุวณฺโณ"


เหตุการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตของหลวงปู่สว่าง ของวัดคงคารามและของชาวบางปะกงก็คือเมื่อหลวงปู่อุปสมบทได้สองพรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จประพาสบางปะกง ณ.วัดคงคารามเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๑ ครั้งนั้นได้มีการสร้างพลับพลารับเสด็จอย่างเป็นทางการ มีพสกนิกรมาคอยเฝ้ารับเสด็จมากมาย พระพุทธเจ้าหลวงทรงประทับเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้ว เสด็จทรงนมัสการพระพุทธรูปในพระอุโบสถ ทรงชมภาพจิตรกรรมฝ่าผนัง ทรงมีพระราชปฏิสันถารเยี่ยมเยียนราษฎร ทรงรับการทูลเกล้าถวายของพื้นบ้านกะปิน้ำปลากุ้งแห้งปลาเค็มต่างๆ และยังทรงพระมหากรุณาพระราชทานแจกเสมา"จปร"แก่ราษฎรเป็นอันมากพร้อมทั้งทรงพระกรุณาพระราชทานผูกเสมาคล้องคอแก่เด็กๆอีกด้วย


   
 พระราชหัตถเลขาของพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ คราวเสด็จประพาสบางปะกง ณ.วัดคงคาราม

  พลับพลารับเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ ณ.วัดคงคาราม บางปะกง

                      พลับพลารับเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ ณ.วัดคงคาราม บางปะกง


           พสกนิกรมาคอยเฝ้ารับและส่งเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ ณ.ปากอ่าวบางปะกงกันอย่างเนืองแน่น


               

    หลวงปู่สว่าง เมื่อแรกเป็นเจ้าอาวาสวัดบางปะกงบน

ทะเบียนพระสังฆาธิการ ๒๔๖๒
    
ครั้นเมื่อหลวงพ่อเมืองมรณภาพลง หลวงปู่สว่างจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบนคงคารามสืบแทนเมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๒ อายุได้ ๓๕ พรรษา ๑๔


    ภาพพระประธานในพระอุโบสถหลังเก่า ก่อนปีพ.ศ.๒๔๖๐

    ภาพในปัจจุบัน

   หลวงปู่สว่าง สิริสุวณฺโณ เมื่ออุปสมบทแล้ว ก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ตลอดจนไสยเวทพุทธาคมจากครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยน้ันหลายรูป อาทิเช่นหลวงพ่อพระครูเปิ้น พุทฺธสโร เจ้าอาวาสวัดบ้านเก่า เจ้าคณะแขวงอำเภอพานทอง จ.ชลบุรี  หลวงพ่อปาน ติสฺโรวัดบางเหี้ย หลวงปู่ศุข เกสโร วัดปากคลองมะขามเฒ่า

 

      หลวงพ่อปาน ติสโร วัดบางเหี้ย

พระราชหัตถเลขาที่รัชกาลที่ ๕ ทรงกล่าวถึงหลวงปู่ปาน

หลวงพ่อปานวัดบางเหี้ย เมื่อครั้งพาคณะพระสงฆ์ออกเดินธุดงค์ประจำปีนั้น ตามพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่พระองค์ทรงพระราชอธิบายถึงเส้นทางการเดินธุดงค์ของหลวงพ่อปานมีความตอนหนึ่งว่า"พระครูปานมาหาด้วย พระครูปานรูปนี้นิยมกันในทางวิปัสสนา และธุดงค์วัตร มีพระสงฆ์วัดต่างๆไปธุดงค์ด้วยสองร้อยสามร้อย แรกลงไปประชุมกันที่วัดบางเหี้ย มีสัปบุรุษที่ศรัทธาเลื่อมใส ช่วยกันเลี้ยง กินน้ำจืดที่มีไว้เกือบจะหมดแล้วก็ออกเดิน ทางที่เดินนั้น ลงไปบางปลาสร้อย แล้วจึงเวียนกลับขึ้นไปปราจิณ นครนายก ไปพระบาท แล้วเดินลงมาทางสระบุรี ว่ามาตามทางรถไฟ แต่ไม่ขึ้นรถไฟ เว้นแต่พระที่่เมื่อยล้า เจ็บไข้ ผ่านกรุงเทพฯ กลับลงไปบางเหี้ย ออกเดินอยู่ในแรมเดือนยี่ กลับไปวัดอยู่ในราวเดือนห้าเดือนหก ประพฤติเป็นอาจิณวัตรเช่นนี้มา ๔๐ ปีแล้ว" ดังนี้ เส้นทางเดินของหลวงพ่อปานจากวัดบางเหี้ยไปบางปลาสร้อยชลบุรีนั้น ท่านจะเดินเลาะทางชายทะเลมาจากวัดบางเหี้ยคลองด่าน ผ่านหงส์ทอง สีล้ง สองคลอง แสมขาว ผีขุด ถึงปากอ่าวบางปะกง มาแวะพักที่วัดบางปะกงบนนี้ทุกครั้ง และที่วัดบนนี้ก็จะเป็นสถานที่รวมของพระสงฆ์ในย่านนี้เพื่อรอพบปะและเข้าร่วมไปธุดงค์กับคณะหลวงพ่อปาน ว่ากันว่ามีทั้งหลวงพ่อดิษฐ์วัดบางสมัคร หลวงพ่อเปิ้นวัดบ้านเก่า หลวงพ่อดิ่งวัดบางวัว หลวงพ่อสว่างวัดบนบางปะกง หลวงพ่อปี่ วัดโคกท่าเจริญพานทอง หลวงพ่อรักษ์วัดกลางบางปะกง หลวงก๋งเฉื่อย วัดล่างบางปะกง หลวงพ่อวาส วัดบนบางปะกง เหล่านี้เป็นต้น ล้วนเป็นพระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ร่วมคณะเดินธุดงค์ไปพระบาทสระบุรีกับหลวงพ่อปาน โดยมาแวะพักรอคณะใหญ่ที่วัดบนบางปะกง แล้วจึงเดินต่อไปยังบางปลาสร้อยชลบุรีตามพระราชหัตถเลขานั้น ซึ่งที่เมืองบางปลาสร้อยนี้ ตามตำนานเมืองชลบุรีก็มีบันทึกไว้ว่าคณะหลวงพ่อปานไปพักที่เมืองบางปลาสร้อยก็มีพระสงฆ์รอร่วมคณะไปด้วยหลายรูป อาทิเช่นหลวงก๋งหลิม วัดน้อย และตามประวัติเส้นทางการเดินนี้นั้น ยังกล่าวไว้อีกว่าได้ไปแวะที่วัดอ่างศิลา และวัดสัตหีบ หลวงปู่ศรี และหลวงพ่ออี๋ ก็เข้าร่วมคณะเดินไปพระบาทด้วย เพราะฉนั้นหลวงปู่สว่างในฐานะที่ท่านเป็นสมภารเจ้าวัดจึงได้มีโอกาสได้รับใช้ใกล้ชิด ฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อปานวัดบางเหี้ย และคงจะได้มีความสนิทสนมคุ้นเคยกับคณะพระธุดงค์เหล่านั้น ซึ่งต่อมาก็ปรากฏว่าได้เป็นพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายรูป...

   
    ภาพพระครูวิมลคุณากรณ์ หรือหลวงปู่ศุข เกสโร วัดปากคลองมะขามเฒ่า


  ภาพนี้ว่ากันว่าเป็นภาพหลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า ให้ไว้ที่วัดหัวเนิน เมื่อคราวมาปลุกเสกพระปีพ.ศ.๒๔๖๒

ในส่วนการศึกษาวิชาอาคมกับหลวงปู่ศุขวัดมะขามเฒ่านั้น ตามประวัติวัดหัวเนินกล่าวไว้ว่า "ในปีพ.ศ.๒๔๖๒ได้กราบอาราธนานิมนต์
หลวงปู่ศุข เกสโร วัดอู่ทองปากคลองมะขามเฒ่า เมืองชัยนาท มาปลุกเสกพระเครื่องในคราวหล่อพระพุทธชัยชนะสงครามพระประธานในพระอุโบสถ"ดังนี้ ครั้งนั้นเมื่อเสร็จภาระกิจที่วัดหัวเนินแล้ว(วัดหัวเนินอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง) ท่านก็ล่องเรือมาปากอ่าวบางปะกงแวะพักที่วัดบนคงคาราม( ซึ่งในปีพ.ศ.๒๔๖๒ นั้นหลวงปู่สว่างเป็นสมภารวัดบนปีแรก อายุ ๓๕ พรรษา ๑๔)) ท่านก็ได้ถวายการต้อนรับหลวงปู่ศุขและคณะเป็นอย่างดี และได้มีโอกาสขอศึกษาวิชาพุทธาคมต่างๆกับหลวงปู่ศุข และหลวงปู่ศุขยังได้มอบไม้ครู ทำด้วยหวายลงอักขระถักเชือกหัวท้ายแก่หลวงปู่สว่างเป็นที่ระลึกอีกด้วย





    สหธรรมมิกที่เคารพนับถือกันเป็นอันดีก็คือหลวงพ่อดิ่ง คงฺคสุวณฺโณ วัดบางวัว เนื่องด้วยเป็นศิษย์ร่วมครูร่วมอาจารย์เดียวกัน เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเปิ้นวัดบ้านเก่าเหมือนกัน เดินธุดงค์ไปพระบาทด้วยกัน ญาติพี่น้องของหลวงปู่สว่างได้ย้ายไปตั้งรกรากมีครอบครัวอยู่บางวัวก็ไม่น้อย จึงได้สนิทสนมคุ้นเคย ไปมาหาสู่กันเป็นอย่างดี หลวงพ่อดิ่งสร้างลิงเข้มขลัง หลวงปู่สว่างก็สร้างลิงได้ขลังไม่แพ้กัน

     หลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว

ซึ่งมีคุณปู่คุณตาหลายท่านที่ได้เคยเป็นศิษย์ติดตามหลวงปู่สว่างได้เล่าถึงการไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนวิชาความรู้กันระหว่างหลวงปู่สว่างกับหลวงพ่อดิ่งไว้ว่า เวลาหลวงปู่สว่างไปหาหลวงพ่อดิ่งที่วัดบางวัวนั้น สององค์เข้ากุฏิปิดเงียบเป็นครึ่งวันค่อนวันข้าวกลางวันบางทีต้องหากินเอาเองตามกุฏิพระที่รู้จักกัน บางครั้งหลวงพ่อดิ่งก็มาหาหลวงปู่สว่างที่วัดบนก็นั่งคุยกันเป็นวันๆก็มี หลวงปู่สว่างท่านเป็นพระที่เก่งเงียบ ไม่ค่อยได้เปิดเผยอะไรนัก วัตถุมงคลของท่านที่เด่นๆก็มีเหรียญรุ่นแรก มีหลายเนื้อ ทั้งเงิน ทองแดง อัลปาก้า เหรียญกลมลงยา รูปถ่ายห้อยคอ ตระกรุดโทน เชือกคาดเอวจระเข้ขบฟัน ลูกอมเนื้อผง ลิงจับหลัก ฯลฯ


    ภาพหลวงปู่สว่าง ถ่ายกับ หลวงพ่อวาส รองเจ้าอาวาส และ หลวงพ่อต่วน อินทรโท พระน้องชายของหลวงปู่สว่าง

ภาพขยายหลวงปู่สว่างในสมัยหนุ่มๆ


            เหรียญหลวงปู่พระครูสว่างรุ่นแรกเนื้อเงิน     

   ในลำดับแรกนี้ จะได้กล่าวถึงการสร้างเหรียญรุ่นแรกของท่าน เนื่องในวาระที่ท่านได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวนที่พระครูสว่าง เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๔ จึงได้จัดให้มีงานทำบุญฉลองตราตั้งและทำบุญอายุวัฒนมงคลครบ ๖๖ ปีด้วย ในการนี้ได้มีการสร้างเหรียญรูปเหมือนของท่านเป็นรุ่นแรกในรูปใบสาเกเล็ก ด้านหน้าแกะเป็นรูปหลวงปู่สว่างห่มผ้าพาดสังฆาฏิหน้าค่อนข้างหนุ่มเพราะใช้รูปในสมัยที่ท่านยังไม่แก่มากเป็นต้นแบบ มีตัวอักษรภาษาไทยว่า"พระครูสว่าง"ด้านหลังเป็นยันต์ห้ามีตัวอักษรว่า"วัดคงคาราม บางปะกง" จำนวนการสร้างน่าจะอยู่ที่ ๑๐๐๐ถึง๑๕๐๐ เหรียญ ไม่เกินนี้ มีทั้งเนื้อนาค เนื้อเงิน เงินกะใหล่ทอง ทองขาว(อัลปาก้าร์)
อัลปาก้าร์กะใหล่เงิน ทองแดง ทองแดงกะใหล่ทอง ทองแดงกะใหล่เงิน        


     ภาพถ่ายต้นแบบกับรูปในเหรียญที่แกะออกมาแล้ว


    ภาพงานฉลองตราตั้งพระครู ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๔


ภาพพระสงฆ์กำลังฉันภัตตาหารในงานฉลองสมณศักดิ์ตราตั้ง และ ทำบุญอายุ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๔ ในภาพวงหลวงปู่สว่างมีหลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว พระครูอาทรพิพิธกิจ (ด.เจียม จิรปุญฺโญ) วัดลาดขวางหรือต่อมาคือหลวงปู่พระพรหมคุณาภรณ์ วัดโสธรวราราม
หลวงพ่อปี่ วัดโคกท่าเจริญ และหลวงก๋งเฉื่อย ธมฺมโกโส เป็นต้น


    ทะเบียนพระสังฆาธิการเมื่อรับพระราชทานแต่งตั้งเป็นพระครู พ.ศ.๒๔๙๔


ในงานทำบุญครั้งนี้ นอกจากจะแจกเหรียญรุ่นแรกแล้ว ยังได้มีการแจกผ้ากระทงหรือผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าเช็ดปากปักตัวอักษรสีชมพูว่า"งานทำบุญอายุ ๖๖ ปี พระครูสว่าง ๒๓ พย ๙๔" เป็นที่ระลึกอีกด้วย

บัญชีรายจ่ายในงานฉลองสมณศักดิ์ พ.ศ.๒๔๙๔ หลวงปู่สว่างเขียนบันทึกไว้ด้วยลายมือของท่านเอง ในบัญชีรายการที่สองทำให้ทราบว่าค่าจ้างทำเหรียญรุ่นแรกเป็นเงิน ๗๕๐ บาท และในรายการที่เก้ามีค่าผ้ากระทง ๔ บาท ๕๐ สตางค์


                      เหรียญรุ่นแรกเนื้อเงิน


                     เหรียญรุ่นแรกเนื้อเงิน


                               ด้านหลัง


                     เหรียญรุ่นแรกเนื้อเงิน


                                                   เหรียญเนื้อเงินด้านหน้่า ด้านหลัง


             เหรียญรุ่นแรกเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง


                   เหรียญเนื้อทองแดงกะไหล่เงิน


                  เหรียญเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง





    รุ่นแรกเนื้อเงิน

2 ความคิดเห็น: