พระสมเด็จฐานผ้าทิพย์ เนื้อตะกั่วหลังยันต์ใบพัด
หลวงก๋งเป็นชาวบางปะกงโดยกำเนิดเกิดที่บ้านปากคลองยายเม้ย ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง แปดริ้ว เมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๗ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๒๙ โยมพ่อชื่อ บุญ โยมแม่ชื่อหมา นามสกุล บุญมี โดยที่หลวงก๋งเฉื่อยเป็นลูกชายคนโต และมีน้องสองคนคือนางฉ่ำ บุญมี และนางชุ่ม บุญมี เมื่ออายุได้ ๑๐ ขวบโยมทั้งสองได้นำมาฝากให้อยู่กับ"หลวงตาคง"เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดล่างบางปะกงเพื่อศึกษาเล่าเรียน ซึ่งหลวงตาคงรูปนี้เป็นพระที่มีวิชาอาคมแก่กล้า เป็นเพื่อนกันกับหลวงพ่อเปิ้น พุทฺธสโร วัดบ้านเก่า ตามประวัติกล่าวว่าท่านเป็นลูกจีนนอกบิดามารดาเป็นชาวจีนโพ้นทะเล อพยพจากเมืองจีนมาเข้าอ่าวบางปะกงขึ้นบกที่บางปะกงล่าง ตัวท่านมาเกิดที่บางปะกง ในวัยหนุ่มมีความสนใจในวิชาอาคม ได้ท่องเที่ยวไปสถานที่ต่างๆ เสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ จนได้ไปพบกับหลวงพ่อแก้ว วัดหนองตำลึง และอยู่ศึกษาวิชาอาคมที่วัดหนองตำลึง ที่วัดหนองตำลึงนี้ท่านได้มีเพื่อนร่วมสำนักหลายท่าน ที่สำคัญก็คือท่านหลวงพ่อเปิ้น พุทฺธสโร ต่อมาได้เป็นอุปัชฌาย์สมภารวัดบ้านเก่า และเจ้าคณะแขวงอำเภอพานทอง พอศึกษาวิชาอาคมจนพอใจแล้ว เมื่อบวชก็กลับมาบวชที่บ้านเกิดบางปะกงล่าง ครั้งนั้นบ้านบางปะกงล่างยังไม่มีวัด ท่านก็บวชกลางแม่น้ำบางปะกงโดยทำเป็น"อุทกุกฺเขปสีมา"หรือ"อุทกสีมา สีมากลางแม่น้ำ"ต่อมาท่านได้สร้างวัดที่บ้านบางปะกงล่างบนที่ดินอันเป็นมรดกตกทอดของท่าน มีชื่อว่าวัดล่างบางปะกง ต่อมาได้ตั้งชื่อเป็นทางการว่า"วัดบำรุงธรรมราษฎร์ศรัทธารามและท่านก็เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดล่างนี้ นี่เป็นประวัติพอสังเขปของหลวงตาคงผู้เป็นพระอาจารย์รูปแรกของหลวงก๋งเฉื่อย ทีนี้จะกล่าวถึงประวัติของก๋งเฉื่อยต่อ
ภาพหลวงพ่อพระครูเปิ้น พุทฺธสโร วัดบ้านเก่าเจ้าคณะแขวงอำเภอพานทอง
หลวงก๋งเฉื่อยท่านอยู่ศึกษาเล่าเรียนในสำนักหลวงตาคงวัดล่าง โดยได้ศึกษาหนังสือไทยและขอมจนแตกฉาน พอรุ่นหนุ่มก็ออกมาช่วยงานบิดามารดาที่บ้าน พออายุครบบวชก็ไปทำการอุปสมบทที่วัดบ้านเก่า ตำบลบ้านมอญ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะเส็ง พศ.๒๔๔๘ โดยมีหลวงพ่อพระครูเปิ้น พุทฺธสโร เจ้าคณะแขวงอำเภอพานทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์ล้วน สิริธโร วัดโคกท่าเจริญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระใบฎีกาจู สิริวฒฺโน วัดบ้านเก่า เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า"พระธมฺมโกโส" หลังจากที่อุปสมบทแล้วได้กลับมาจำพรรษาอยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงตาคงปฐมเจ้าอาวาสวัดล่างบางปะกง และได้ศึกษาพระธรรมวินัยวิปัสสนากรรมฐาน และศึกษาวิชาพุทธาคมต่างๆกับหลวงตาคง พร้อมกันนี้หลวงตาคงก็ยังถ่ายทอดวิชาแพทย์แผนโบราณยาสมุนไพรและวิชายาจีนต่างๆ นอกจากนี้ท่านยังได้ไปศึกษาวิชาอาคมจากอาจารย์ผู้ทรงคุณอีกหลายท่าน ที่สำคัญก็เช่นหลวงพ่อเปิ้นวัดบ้านเก่าอุปัชฌาย์ของท่าน กับท่านพระครูวิมลคุณากร(หลวงปู่ศุข เกสโร))วัดปากคลองมะขามเฒ่าเมื่อพศ.๒๔๖๒ครั้งที่มาปลุกเสกพระวัดหัวเนินแล้วมาแวะพักที่วัดบนคงคาราม ตอนนั้นหลวงพ่อสว่างเป็นเจ้าอาวาสวัดบนปีแรก ซึ่งหลวงพ่อสว่างนี้ก็เป็นสหธรรมมิกกันกับหลวงก๋งเฉื่อยมีอายุพรรษาแก่กว่า๑พรรษาเรียกว่ารุ่นราวคราวเดียวกัน ทั้งหลวงพ่อสว่างและหลวงก๋งเฉื่อยยังได้เคยร่วมเดินธุดงค์กับคณะหลวงพ่อปานวัดบางเหี้ยไปนมัสการพระบาทสระบุรีเมื่อครั้งเดินเลาะชายทะเลจากวัดบางเหี้ยมาแวะค้างแรมบิณฑบาตรน้ำจืดที่วัดบนคงคารามก่อนที่จะเดินต่อไปชลบุรีตอนนั้นมีพระร่วมเดินไปกับคณะหลวงพ่อปานเป็นร้อยรูปซึ่งต่อมาภายหลังได้เจริญพรรษายุกาลเป็นพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายรูปด้วยกัน ซึ่งต่างก็มีความรอบรู้ในวิชาพุทธาคมทั้งยังได้แลกเปลี่ยนวิชาอาคมกันจนแตกฉาน ยิ่งวิชาแพทย์แผนโบราณด้วยแล้วหลวงก๋งเฉื่อยท่านมีความชำนาญยิ่ง ท่านมีความรอบรู้ในสมุนไพรต่างๆเป็นจำนวนมาก จนสามารถวิเคราะห์โรคและทำนายอาการของโรคได้อย่างแม่นยำ จนเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไปตลอดทั้งจังหวัดใกล้เคียง ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยท่านเป็นผู้ที่มีเมตตาธรรมประจำใจ มีความกรุณาต่อชนทั่วไป ทั้งมีอัธยาศัยละมุนละไม เป็นพระที่เข้าหาได้ง่ายไม่ถือตัว แม้เมื่อเข้าสู่วัยชรามีพรรษายุกาลสูงแล้วก็ยังเมตตาสงเคราะห์อนุเคราะห์แก่ศิษยานุศิษย์ทั้งบรรชิตและคฤหัสสม่ำเสมอโดยเอนกปริยาย ในปีพศ.๒๔๖๕ หลังจากที่หลวงตาคงมรณภาพทหลวงก๋งเฉื่อยท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอธิการเฉื่อยเจ้าอาวาสวัดล่างบางปะกงรูปที่๒ ต่อมาวันที่ ๕ ธันวาคม พศ.๒๔๙๘ โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาติแก่องค์สกลมหาสังฆปรินายกให้ประทานตั้งประทวนสมณศักดิ์เป็น"พระครูเฉื่อย ธมฺมโกโส"
การสร้างวัตถุมงคล หลวงก๋งเฉื่อยนั้นท่านได้เริ่มสร้างวัตถุมงคลครั้งแรกท่านก็ลงตระกรุดแจกแก่ลูกศิษย์ของท่าน ซึ่งตระกรุดหลวงก๋งเฉื่อยนั้นหนาประมาณ ๒ มิล ยาว ๕ นิ้ว กว่าจะได้แต่ละดอกยากมาก เพราะท่านต้องลงอักขระซ้ำซากดอกละหลายๆครั้งตามอุปเท่ห์เลขมงคลต่างๆ และท่านจะม้วนกลับเอาอักขระไว้นอก พร้อมกับลงครั้งว่าดอกนี้กี่ครั้งๆ เช่น ๑๐๘ ครั้งพศ.๒๔๘๙ ก็จะลงว่า "๑๐๘ พส.๒๔๘๙" บ้างก็ "๒๔๙๘ ๑๐๘ครั้ง"ตามแต่ครั้งที่ลงและปีที่สร้าง เรื่องตระกรุดนี่ท่านสร้างเรื่อยๆตามแต่ลูกศิษย์จะมาขอ ซึ่งตะกั่วที่ท่านใช้นั้นตามตำราของท่านต้องเป็นลูกสะกดตะกั่วอวนใช้แล้วเท่านั้น โดยเบื้องต้นท่านจะลงอักขระปลุกเสกลูกสะกดเสียก่อนแล้วจึงทำการหลอมแล้วเทลงบนแม่พิมพ์สี่เหลี่ยมขนาดพอๆกับตระกรุด พอเย็นดีแล้วจึงนำมาตีแผ่ตัดให้ได้ขนาดเท่าที่ต้องการ ลูกศิษย์ที่อยู่ประจำคอยตีแผ่ตะกั่วก็มีหลายรุ่นหลายยุค เท่าที่ทราบก็"ตาแฉะ"คนหนึ่ง "ตาเก"อีกคนหนึ่ง เมื่อได้แผ่นตะกั่วตามที่ต้องการแล้วท่านจะดูฤกษ์ดูยามว่าวันนี้วันดีรึไม่ดี วันอธิบดีธงชัยท่านก็ลงจารตะกรุด วันอุบาทโลกาวินาสท่านก็ไม่ลง เพราะฉนั้นเรื่องตระกรุดก๋งเฉื่อยนั้นแต่ละดอกยิ่งมากครั้งก็ยิ่งใช้เวลานานท่านพิถีพิถันมากไม่สุกเอาเผากิน
อักขระอีกด้านของดอก ๑๕ ครั้ง ลักษณะการถักพันเชือกคล้ายๆของหลวงพ่อปานวัดบางเหี้ย
ดอกนี้เปลือยๆ เห็นลายมือลงจารอักขระของก๋งเฉื่อยชัดเจน
ตระกรุดหลวงก๋งเฉื่อยนี้ชาวบางปะกงลูกทะเลรู้จักสรรพคุณกันดี ลงน้ำลงทะเลป้องกันภยันตรายทางน้ำได้ชงัดนัก ตระกรุดโทนก๋งเฉื่อยนี้นี่แหละที่ลูกศิษย์คนสำคัญของท่านติดตัวไปแสดงอภินิหารปรากฏสรรพคุณเป็นที่ประจักษ์แก่สายพระเนตรแห่งเสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ท่านผู้นั้นก็คือพลเรือโท หลวงสุนาวินวิวัฒ (กิมเหลียง สุนาวิน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น พิศาล สุนาวินวิวัฒน์) คุณหลวงท่านนี้ท่านเป็นชาวบางปะกงเกิดที่บ้านบางปะกงล่าง เมื่อเจริญวัยได้เข้าไปศึกษาวิชาทหารเรือโดยเป็นศิษย์ในพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ต่อมาได้เจริญในหน้าที่การงานและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงขึ้นโดยลำดับ ตั้งแต่เป็นผู้บังคับการเรือรบหลวงต่างๆ จนกระทั่งเป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ ต่อมาได้ย้ายสังกัดจากข้าราชการทหารไปรับราชการพลเรือนก็ได้เจริญรุ่งเรืองในหน้าที่เริ่มตั้งแต่เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดคือเป็นเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ จนกระทั่งได้ดำรงค์ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคนที่ ๒๔ ของประเทศไทย
เมื่อประมาณปีพศ.๒๔๖๕-๒๔๗๐ ขุนสุนาวินวิวัฒ (บรรดาศักดิ์ในขณะนั้น) ได้นำพระสมเด็จหักๆที่มีผู้ที่นำไปไว้ตามวัดต่างๆในพระนครท่านได้รวบร่วมนำมาถวายให้หลวงก๋งเฉื่อยห่อใหญ่ ซึ่งชิ้นส่วนพระสมเด็จเก่าๆหักๆห่อนั้นเป็นพวกสมเด็จวัดระฆัง สมเด็จอรหัง พระวัดพลับและอีกหลายๆวัด ซึ่งเมื่อหลวงก๋งเฉื่อยท่านได้รับถวายห่อพระหักๆมาแล้วได้เล่ากันสืบต่อมาว่าท่านก็พิจารณาดูพระหักเหล่านั้น จึงได้มีความดำริที่จะสร้างให้เป็นองค์พระสมเด็จขึ้นใหม่ก็ได้ทยอยบดชิ้นพระสมเด็จเหล่านั้น โดยใช้ให้พระลูกศิษย์ช่วยกันบด ครั้งนั้นมีพระลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดหลายรูปได้ขอชิ้นพระสมเด็จวัดระฆังหักใต้เข่าบ้าง หักครึ่งองค์บ้างไปบูชาติดตัว ท่านก็ให้เอาไปไม่หวง ซึ่งก็ยังปรากฏอยู่กับลูกหลานของพระเหล่านั้นถึงปัจจุบันนี้หลายชิ้นหลายบ้าน
การสร้างพระสมเด็จครั้งแรกเริ่มตั้งแต่ปีพศ.๒๔๗๐ เป็นต้นมา หลวงก๋งเฉื่อยท่านสร้างเป็นพิมพ์สี่เหลี่ยมฐานสามชั้น ทาน้ำมันชันบ้างน้ำมันปลาตะเพียนบ้าง ด้านหลังท่านจะลงจารอักขระยันต์ใบพัดด้วยมือท่านเองทุกองค์ มีจำนวนน้อยมากแทบจะไม่ได้พบเห็นกันเลย


องค์นี้พิมพ์รัศมีห้าชั้นยุคแรกแต่เป็นเนื้อผงคลุกรักหายากมากได้พบเห็นแต่เพียงรูปภาพนี้เท่านั้นท่านเจ้าของกล่าวว่าได้รับมาจากหลวงพ่อจงวัดหน้าต่างนอก จ.อยุธยา
ตำนานการสร้างพระสมเด็จของหลวงก๋งเฉื่อยก็เริ่มมาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งผงมวลสารนั้น นอกจากผงพระสมเด็จดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ท่านยังมีผงที่ได้รับตกทอดมาจากหลวงตาคงอาจารย์ของท่าน นอกจากนี้ก๋งเฉื่อยท่านยังเขียนผงลบผงด้วยตัวท่านเอง กล่าวกันว่าท่านทำผงทะลุกระดานได้ ซึ่งวิชามโนมยิทธิเหล่านี้ ก๋งเฉื่อยท่านเคยทำให้เป็นที่ปรากฏเล่าขานกันมามากเช่นว่าเสกเทียนน้ำมนต์ให้ละลายทางโคนน้ำมนต์เดือดกันต่อหน้าต่อตาเป็นที่ประจักษ์แก่ลูกศิษย์ลูกหา ท่านได้สร้างพระสมเด็จพิมพ์ผ้าทิพย์และพิมพ์ซุ้มประตูมีทั้งเนื้อผงและเนื้อตะกั่วแจกในวาระต่างๆเรื่อยมา
พระสมเด็จหลวงก๋งเฉื่อยรุ่นนี้แกะพิมพ์ได้สวยงาม เป็นรูปองค์พระนั่งขัดสมาธิเพชรที่องค์พระในองค์ที่สมบูรณ์ จะปรากฏผ้าจีวรและสังฆาฏิชัดเจน ที่พระเกศมาลาจะมีเส้นรัศมี ประทับบนฐานบัว ๗ กลีบ ชั้นเดียว มีผ้าทิพย์ปูลาด สร้างด้วยเนื้อผงพุทธคุณผสมมวลสารผงสมเด็จวัดระฆัง และมีการทาเคลือบด้วยน้ำมันชนิดต่างๆ คือทาด้วยน้ำมันชันยาเรือบ้างน้ำมันปลาตะเพียนบ้างน้ำมันชแล็คบ้าง ซึ่งสีก็จะออกต่างกัน พิมพ์นี้เท่าที่ปรากฏมีเฉพาะเนื้อผงเท่านั้น
ด้านหลังเป็นแบบยันต์นูนแกะเป็นรูปยันต์ใบพัดบรรจุพระคาถา "ภะ คะ วา" องค์ในรูปนี้เนื้อจัดมาก ทาน้ำมันชัน แห้งแตกลายงาเป็นธรรมชาติทั้งด้านหน้าและด้านหลัง องค์นี้ชนะเลิศที่ ๑ งานแปดริ้ว พศ.๒๕๕๒ และติดที่ ๒ งานพัทยา ๒๕๕๓
องค์นี้ทาน้ำมันตราปลาตะเพียนชนิดที่ใช้ทาตู้ไม้สักโบราณ สีเหมือนสีตู้ไม้สักเก่าๆ สภาพสวยสมบูรณ์เกือบ๑๐๐%องค์พระติดชัดเห็นเส้นรัศมีที่พระเกศรำไรๆ เส้นสายลายจีวรผ้าสังฆาฏิคมชัดดูคลาสสิค
ด้านหลังยันต์ใบพัดติดชัดเจนสวยงาม
องค์นี้นี่ลงทะเลมาโชกโชน
องค์นี้หล่อได้สมบูรณ์สวยงาม ผิวยังมีคราบปรอทรำไรๆ เห็นยันต์นะมะพะทะข้างองค์พระชัดเจน บัวติดครบทุกเม็ด
ด้านหลังเป็นยันต์ใบพัด ภะ คะ วา มะ อะ อุ
องค์นี้พอสวย คราบปรอทน้อย บัวติดไม่ครบหายไปหนึ่งเม็ด
ด้านหลังยันต์ติดชัดเจนดี
พระสมเด็จก๋งเฉื่อย พิมพ์ซุ้มประตู เนื้อผง
พิมพ์นี้จะมีขนาดเล็กกว่าพิมพ์ผ้าทิพย์ เรียกว่ากระทัดรัด การแกะพิมพ์ก็สวยงามอลังการเป็นรูปองค์พระนั่งขัดสมาธิเพชรบนบัวสองชั้น วงการมักเรียกกันว่านังขาไกว้ อยู่ในซุ้มเรือนแก้วสองชั้น แต่ลูกศิษย์ก็เรียกง่ายๆว่าซุ้มประตู สร้างสองเนื้อคือเนื้อผงและเนื้อชินตะกั่ว ในภาพเป็นเนื้อผงสภาพสมบูรณ์ ๙๙% เป็นพระเก็บไม่ผ่านการใช้ น้ำมันแห้งสนิททั้งด้านหน้าด้านหลัง
ด้านหลังของเนื้อผงจะเป็นยันต์ใบพัด ภะ คะ วา มะ อะ อุ
ด้านหลังยันต์ใบพัดภะ คะ วา มะ อะ อุ น้ำมันแห้งสนิทส่องแล้วซึ้งตา องค์น้ำมันแตกลายงานี้เคยติดรางวัลที่ ๑ งานแปดริ้วการันตี
องค์นี้พอสวย ผ่านการใช้มาพอสมควร เส้นสายลายซุ้มประตู้ยังอยู่ครบ น้ำมันหลุดลอกเห็นเนื้อในหนึกนุ่ม
ที่นี้จะกล่าวถึงพระพิมพ์ซุ้มประตูเนื้อชินตะกั่ว ซึ่งก็มีพิมพ์ทรงคล้ายกันกับเนื้อผงต่างกันที่ยันต์ด้านหลังเนื้อตะกั่วจะเป็นยันต์นะเก้าหน้าและมีสองพิมพ์คือยันต์เต็มและยันต์ขาด เนื้อตะกั่วที่ก๋งเฉื่อยใช้นำมาสร้างก็เป็นตะกั่วอวน ท่านนำมาลงยันต์แล้วหลอม หลอมแล้วตีเป็นแผ่นนำมาลงยันต์แล้วหลอมอีกทำอย่างนี้ ๑๐๘ ครั้ง เสร็จแล้วถึงจะนำมาเทพิมพ์พระ ซึ่งในแต่ละครั้งก็จะได้พระพอประมาณไม่มากนักเนื้อตะกั่วของพระก๋งเฉื่อยจึงเนื้อจัด คล้ายๆพระของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า
องค์นี้หลังยันต์เต็ม สวย
องค์นี้ก็เป็นพิมพ์ยันต์ขาด
ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๗๒-๒๔๗๓ หลวงก๋งเฉื่อยได้ทำการก่อสร้างหอสวดมนต์ขึ้น๑หลังจึงได้สร้างพระสมเด็จขึ้นอีกหนึ่งรุ่นโดยทำเป็นพิมพ์พระนั่งบัวสองชั้น ฐานห้าชั้นไม่มีผ้าทิพที่ปลายพระเกศมาลาไม่มีรัศมี เนื้อผงลงน้ำมัน ลักษณะคล้ายๆกันกับพิมพ์ผ้าทิพย์
พระหลวงก๋งเฉื่อยเนื้อผงพิมพ์พิเศษหลังยันต์ มีเนื้อผงกับเนื้อตะกั่ว สร้างจำนวนน้อยหาชมยากมาก
พระสมเด็จก๋งเฉื่อยพิมพ์รัศมีหลังอุ พระสมเด็จพิมพ์นี้เป็นอีกพิมพ์หนึ่งที่หลวงก๋งได้เริ่มสร้างแจกในปีพศ.๒๔๙๘ ในวาระที่ท่านได้รัพระราชทานตั้งประทวนสมณศักดิ์เป็นพระครูเฉื่อย ธมฺมโฆโส สมเด็จพิมพ์นี้มีสองขนาดคือเล็กกับใหญ่โดยใช้มวลสารเดียวกันกับพระพิมพ์รุ่นปีพศ.๒๔๗๕ และทาน้ำมันชนิดเดียวกัน โดยแกะพิมพ์เป็นรูปพระพุทธนั่งขัดสมาธิราบบนฐาน ๕ ชั้นมีเส้นพระรัศมีรอบพระเศียร ๑๕ เส้น
(โปรดติมตามตอนต่อไป ที่นี่ เร็วๆนี้)
ขอบคุณข้อมูลดีๆครับ ทำห้ไู้จักกับอีกหนึ่งพระเกจิอาจารย์ุคเก่าแถบลุ่มแม่น้ำบางประกง
ตอบลบขอขอบคุณท่านผู้ให้องค์ความรู้นี้ ผมมี พิมพ์รัศมีหลังอุ เนื้อผงดำ ขึ้นไขหว่านเยอะมากครับ ไม่รู้ใช่หรือป่าว อยากเรียนขอคำชี้แนะได้ไหมครับ ขอเบอร์ติดต่อได้ไหมครับ
ตอบลบขอบคุณครับสำหรับข้อมูลทั้งหมดที่มีแต่ไม่ทราบมีวิธีสังเกตุเนื้อพระอย่างไรบ้าง
ตอบลบอยากเห็นปิดตาบ้าง
ตอบลบรบกวนเพื่อนๆที่เห็นข้อมความนี้ครับ ใครที่อาศัยอยู่ใกล้ๆวัดนี้รบกวนติดต่อผมหรือขอข้อมูลทางวัดให้หน่อยว่าในวัดมีพระที่จำพรรษาอยู่กี่รูป พอดีพ่อผมไปบวชที่นั่นจะไปหาแต่ไม่รู้ว่ายังจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้หรือป่าว
ตอบลบรบกวนเพื่อนๆที่เห็นข้อมความนี้ครับ ใครที่อาศัยอยู่ใกล้ๆวัดนี้รบกวนติดต่อผมหรือขอข้อมูลทางวัดให้หน่อยว่าในวัดมีพระที่จำพรรษาอยู่กี่รูป พอดีพ่อผมไปบวชที่นั่นจะไปหาแต่ไม่รู้ว่ายังจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้หรือป่าว
ตอบลบขอบคุณมากครับสำหรับความรู้ที่ได้รับ ผมได้รับพระพิมพ์ซุ้มประตูเนื้อชินตะกั่วหลังยันต์เต็มมาตั้งนานแล้ว เคยสงสัยว่าเป็นพระหลวงพ่อพริ้งหรือหลวงปู่ศุข แต่ไม่แน่ใจจนมาได้ข้อมูลครั้งนี้ ภูมิใจที่ได้พระดีไว้ในครอบครอง ถ้ามีโอกาสจะได้ไปกราบที่วัดท่าน
ตอบลบขออนุญาตถามครับ เหรียญหลวงพ่อเฉื่อย ปี2511 ทันหลวงพ่อหรือไม่ครับ
ตอบลบไม่ทันครับผม
ลบ