วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556
วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556
ประวัติพระครูพิบูลย์คณารักษ์ (หลวงพ่อดิ่ง คงฺคสุวณฺโณ) วัดบางวัวเทพเจ้าของชาวบางปะกง
หลวงพ่อดิ่ง คงฺคสุวณฺโณ เป็นชาวบางวัวโดยกำเนิดเกิดเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พศ.๒๔๒๐ ณ.บ้านเกาะหลังวัดบางวัว อ.บางปะกง บิดาชื่อเหมมารดาชื่อล้วน นามสกุลเหมล้วน มีพี่น้อง๑๖คน หลวงพ่อเป็นบุตรคนที่ ๘ ในวัยเด็กบิดาได้นำมาเข้าวัดเพื่อเล่าเรียนหนังสือที่วัดบางวัวพออายุครบบวช จึงได้อุปสมบท ณ.วัดบางวัว เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พศ.๒๔๔๐ โดยมีหลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ดิษฐ์ พรหมฺสโร วัดบางสมัคร เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อจ่าง วัดบางสมัคร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อปลอด วัดบางวัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า"คงฺคสุวณฺโณ"
พระครูพิบูลย์คณารักษ์ หลวงพ่อดิ่ง คงฺคสุวณฺโณ
หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ดิษฐ์ พรหมฺสโร วัดบางสมัคร
เมื่ออุปสมบทได้สองพรรษาหลวงพ่อดิ่งท่านได้มีความต้องการที่จะศึกษาพระปริยัติธรรมบาลีจึงได้ย้ายไปเป็นศิษย์ในสำนักเรียนวัดสามจีนใต้หรือวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ซึ่งในขณะนั้นพระครูวิริยะกิจจการีหรือหลวงพ่อโม ธมฺมธโร เป็นเจ้าอาวาส
ภาพพระพุทธทศพลญาณ หลวงพ่อโต วัดสามจีนใต้ พระประธานใน
พระอุโบสถวัดสามจีนในสมัยที่หลวงพ่อดิ่งไปอยู่จำพรรษาเมื่อพศ.๒๔๔๓
ภาพพระครูวิริยะกิจจการี "หลวงพ่อโม วัดสามจีน"เทพเจ้าลั๊กกั๊ก
พระอาจารย์ด้านวิชาคงกระพันชาตรีของหลวงพ่อดิ่งวัดบางวัว
ภาพหลวงพ่อดิ่ง คงฺคสุวณฺโณ เมื่อสมัยเป็นศิษย์วัดสามจีน(วัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพมหานคร)
(เครดิตภาพของคุณพิชา ศรีวัธนะวรชัย)
อันสำนักวัดสามจีนย่านเยาวราชครั้งสมัยที่หลวงพ่อดิ่งไปอยู่จำพรรษานั้น เป็นสำนักสักยันต์คงกระพันชาตรีที่มีชื่อเสียงโดยมีหลวงพ่อโม ธมฺมธโรเป็นเจ้าสำนัก มีลูกหลานชาวจีนย่านเยาวราชสำเพ็งให้ความเคารพนับถือเลื่อมใสศรัทธาเข้ามาสักยันต์เป็นจำนวนมากมีสมญานามว่าสำนัก"ลั๊กกั๊ก" มีชื่อเสียงคู่กันมากับสำนักเก้ายอดวัดอัมพวันโดยมีเจ้าสำนักที่ชื่อว่า"หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด"ผู้โด่งดัง และความไม่ธรรมดาอีกประการหนึ่งของหลวงพ่อโมวัดสามจีนก็คือ ท่านเป็นพระคณาจารย์เพียงไม่กี่องค์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๕ ทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสเป็นการส่วนพระองค์ และได้รับพระราชทานนิมนต์ในการพระราชพิธีสำคัญๆอยู่บ่อยครั้ง เช่นงานพุทธามังคลาภิเศกพระพุทธชินราชจำลองพระประธานพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ครั้งนั้นว่ากันว่ามีพระคนาจารย์ที่รัชกาลที่๕ท่านทรงศรัทธาเชื่อมั่นเลื่อมใสจริงๆ จำนวน๙รูปเท่านั้นนั่งปรกพุทธาภิเศก และอีกงานก็คืองานรัชมังคลาภิเศก รศ.๑๒๗ได้รับพระราชทานพัดรัชมังคลาภิเศก"นารายณ์ทรงครุฑ" และอีกประการที่สำคัญยิ่งก็คือ เมื่อเสด็จกลับจากยุโรปรศ.๑๒๖ทรงพระราชทานถวายพระบรมรูปประทับยืนโลหะหล่อจากอิตาลี่ขนาด ๒๕ นิ้วเป็นของพระราชทานฝากจากยุโรปปรากฏอยู่ในรูปหมู่ด้านหน้าพระประธาน นี่เป็นความไม่ธรรมดาแห่งพระอาจารย์ด้านวิชาคงกระพันชาตรีของหลวงพ่อดิ่งวัดบางวัวบางปะกง ซึ่งท่านได้อยู่ศึกษาวิชาพุทธาคมในสำนักวัดสามจีนนี้ได้๑พรรษาเต็มๆ พอดีหลวงพ่อเปียวัดบางวัวมรณภาพวัดไม่มีเจ้าอาวาสท่านจึงต้องกลับมาเป็นเจ้าอาวาสดูแลรักษาวัดบางวัวในราวปีพศ.๒๔๔๕
หลวงพ่อดิ่งเมื่อแรกเป็นพระอธิการสมภารวัดบางวัว
ตามประวัติของหลวงพ่อที่ปรากฏในหลายกระแสกล่าวว่าพระอาจารย์ที่ท่านศึกษาพุทธาคมด้วยมีอยู่๓ท่านคือ ๑, หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ดิษฐ์ พรหมฺสโร ๒, หลวงพ่อพระครูเปิ้น พุทฺธสโร วัดบ้านเก่า ๓,หลวงพ่อเป๊อะ (สุดใจ) วัดจวนดำรงค์ราชพลขันธ์ พระประแดง
แต่ถ้าจะพิจารณาตามหลักการและเหตุผลแล้ว การที่หลวงพ่อดิ่งท่านไปอยู่จำพรรษาที่วัดสามจีน ก็เพื่อศึกษาวิชาความรู้ และในสำนักวัดสามจีนในขณะนั้นก็เพียบพร้อมทั้งฝ่ายปริยัติและวิชาพุทธาคม ซึ่งองค์หลวงพ่อดิ่งท่านเองก็เป็นผู้ที่ไปเพื่อศึกษา มีหรือที่ท่านไปอยู่พำนักตั้งหนึ่งพรรษาจะไม่ได้วิชาพุทธาคมสายหลวงพ่อโมวัดสามจีนเลย เพราะฉนั้นพิจารณาตามหลักการและเหตุผลแล้วพระอาจารย์ของหลวงพ่อดิ่งท่านนอกจาก ๓ ปรมาจารย์ที่เอ่ยนามมาแล้ว หลวงพ่อโมวัดสามจีนน่าจะเป็นปรมาจารย์อีกองค์หนึ่งของหลวงพ่อดิ่งอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะพระเครื่องของหลวงพ่อดิ่งท่านปรากฏว่ามีกิตติคุณไปในทางคงกระพันชาตรีเป็นที่เลื่องลือตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
หลวงพ่อพระครูเปิ้น พุทฺธสโร วัดบ้านเก่า
หลวงปู่สุดใจ วัดจวนดำรงค์ราชพลขันธ์ พระประแดง
วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556
หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ดิษฐ์ พรหมฺสโร วัดบางสมัคร อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา กับตำนานวิชาพุทธาคมสายหลวงพ่อปานวัดบางเหี้ย
พระเดชพระคุณหลวงหลวงพ่อดิษฐ์ท่านนี้ไม่ธรรมดา เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อปาน เป็นอาจารย์หลวงพ่อดิ่ง เมื่อแรกอุปสมบทอยู่จำพรรษาศึกษาพุทธาคมอยู่ในสำนักวัดบางเหี้ยมงคลโคธาวาสกับท่านพระครูพิพัฒนิโรธกิจ(หลวงพ่อปาน ติสโร) และได้ร่วมเดินธุดงค์กับคณะพระกัมมัฏฐานของหลวงพ่อปาน ไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรีเป็นประจำ จนแก่กล้าในวิชาพุทธาคมสายหลวงพ่อปานวัดบางเหี้ย ว่ากันว่าท่านเป็นพระผู้ทรงอภิญญารูปหนึ่งที่เดียว ต่อมาได้ดำรงค์ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางสมัคร และเป็นพระอุปัชฌาย์ มีสัทธิวิหาริกศิษยานุศิษย์มากมายเช่นท่านพระครูสาครสมานคุณ(หลวงพ่อรักษ์)วัดกลางบางปะกงอดีตเจ้าคณะอำเภอบางปะกง และลูกศิษย์รูปสำคัญอีกรูปหนึ่งก็คือท่านพระครูพิบูลย์คณารักษ์ (หลวงพ่อดิ่ง คงฺคสุวณฺโณ) พระคุณเจ้ารูปนี้หลวงพ่อดิษฐ์ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์และถ่ายทอดวิชาพุทธาคมสายหลวงพ่อปานให้ และหลวงพ่อดิ่งท่านก็ศึกษาวิชาอาคมสืบทอดแผ่บารมีจนเป็นที่ปรากฏยิ่งใหญ่ไพศาล จนกระทั่งปัจจุบันนี้วิชาพุทธาคมสายหลวงพ่อปานวัดบางเหี้ยที่หลวงพ่อดิ่งวัดบางวัวท่านสืบทอดมาจากหลวงพ่อดิษฐ์วัดบางสมัครนั้นก็ได้รับการสืบสานตกทอดมายังพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระมงคลสุทธิคุณ(หลวงปู่ฟู อติภทฺโท ปธ.๔) เจ้าอาวาสวัดบางสมัครรูปปัจจุบัน พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณหลวงปู่ฟูรูปนี้เป็นสัทธิวิหาริกที่หลวงพ่อดิ่งท่านเป็นอุปัชฌาย์บวชให้และถ่ายทอดวิชาพุทธาคมที่ท่านศึกษามาจากหลวงพ่อดิษฐ์ประสิทธิ์ประสาทให้ และท่านเจ้าคุณหลวงปู่ฟูท่านก็ได้ใช้วิชาพุทธาคมที่ท่านได้รับสืบทอดกลับมาสงเคราะห์อนุเคราะห์แก่ศิษยานุศิษย์ด้วยจิตรานุภาพแห่งความเมตตา จนบารมีของท่านแผ่ไพศาล กล่าวได้ว่าหลวงพ่อดิษฐ์หลวงพ่อดิ่งท่านเป็นเทพเจ้าของชาวบางปะกงฉันใด ท่านเจ้าคุณหลวงปู่ฟูท่านก็เป็น มหามงคลของคนบางปะกงฉันนั้น สมดังราชทินนามของท่านที่ว่า"พระมงคลสุทธิคุณ"
หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ดิษฐ์ พรหมฺสโร
รูปหล่อโบราณหลวงพ่อดิษฐ์
ท่านพระครูพิบูลย์คณารักษ์ หลวงพ่อดิ่ง คงฺคสุวณฺโณ ท่านพระครูสาครสมานคุณ(หลวงพ่อรักษ์วัดกลางบางปะกง)
พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณหลวงปู่พระมงคลสุทธิคุณ (หลวงปู่ฟู อติภทฺโท ปธ.๔)
วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556
เหรียญหลวงพ่อปาน วัดสองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา
เป็นเหรียญที่ระลึกในงานยกช่อฟ้า และหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อปาน สร้างเมื่อพศ. ๒๔๙๗ ท่านเจ้าอาวาสในสมัยน้ันได้นำเข้าร่วมในพิธีปลุกเสกหลวงพ่อโสธรรุ่น ๒๔๙๗ ณ.พระอุโบสถวัดโสธรวรารามด้วย เป็นการอัญเชิญพุทธบารมีแห่งองค์หลวงพ่อพระพุทธโสธรและอภิญญาบารมีของหลวงพ่อปานและของพระเกจิคณาจารย์แก่กล้าพุทธาคมที่เข้าร่วมนั่งปรกในครั้งนั้นบรรจุไว้ในเหรียญรุ่นนี้ จึงมีประสพการณ์มากมาย เป็นที่เสาะแสวงหา มีราคาค่านิยมหลักพันถึงหมื่นตามเนื้อพระและสภาพของเหรียญ และในครั้งนี้ได้สร้างแหวนรูปหลวงพ่อปานไว้อีกแบบหนึ่งด้วย การเช่าหาควรระมัดระวังให้ดีเพราะมีของปลอมออกมานานแล้ว ฝีมือใกล้เคียงนะครับพี่น้อง.
วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556
พระเครื่องและประวัติหลวงก๋งเฉื่อย (พระครูเฉื่อย ธมฺมโกโส) วัดล่างบางปะกง
ของหายากในบรรดาพระเครื่องของหลวงก๋งเฉื่อยก็ต้องยกให้พระสมเด็จฐานผ้าทิพย์ หลังยันต์ใบพัดเนื้อผง แต่สุดยอดของความหายากก็ต้ององค์นี้ เป็นพระสมเด็จฐานผ้าทิพย์เนื้อชินตะกั่วสร้างน้อย มีสองเนื้อคือเนื้อตะกั่วและเนื้อผง หลวงก๋งเฉื่อยท่านนี้มีประวัติไม่ธรรมดา ลูกศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งของท่านก็คือ พลเรือโท หลวงสุนาวินวิวัฒน์ (กิมเหลียง สุนาวิน)นี่ท่านเป็นคนบางปะกง ตามประวัติว่ามีของดีของก๋งเฉื่อยติดตัวไปแสดงอภินิหารต่อหน้าเสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพรเมื่อคราวเป็นนร.นายเรือเช่นเดียวกับลูกศิษย์หลวงพ่อดิ่งที่มีลิงติดตัวไปแสดงอภินิหารจนเป็นที่กล่าวขวัญกัน แต่เรื่องราวของหลวงก๋งเฉื่อยท่านไม่เป็นที่เปิดเผยสักเท่าใดนัก จะขอนำอัตตะชีวะประวัติของท่านและเรื่องราวเกี่ยวกับพระเครื่องของท่านมาเผยแพร่ให้ทราบกันดังนี้
อักขระจารมือยันต์ใบพัดด้านหลังองค์พระ
องค์นี้ก็จารยันต์ใบพัด
พระสมเด็จรุ่นแรกฐานสามชั้นนี้นั้น นอกจากเนื้อผงแล้วหลวงก๋งเฉื่อยท่านยังสร้างเป็นเนื้อตะกั่วอีกด้วยซึ่งก็มีจำนวนไม่มากเพราะวิธีการสร้างของท่านค่อนข้างยาก ใช้ตะกั่วอวนลงยันต์แล้วหลอม หลอมแล้วมาตีเป็นแผ่น แล้วนำมาลงยันต์อีกทำอย่างนี้๑๐๘ครั้งในแต่ละครั้งได้พระไม่กี่องค์จึงไม่ค่อยได้พบเห็นกันในสนามพระ
พระสมเด็จรุ่นแรกฐานสามชั้นเนื้อตะกั่ว
ด้านหลังพระสมเด็จรุ่นแรกเนื้อตะกั้ว
พระก๋งเฉื่อยส่วนมากจะทาน้ำมันชนิดต่างๆดังที่ได้กล่าวแล้ว เพราะลูกศิษย์ของท่านเป็นคนทะเล ใส่พระลงน้ำกัน ต้องทาน้ำมันรักษาเนื้อพระเอาไว้ สังเกตุดูจากองค์ที่ผ่านการใช้มาแล้ว น้ำมันจะร่อนหลุดเห็นเนื้อใน ดูสวยไปอีกแบบ
พระปิดตาเม็ดบัว ยอดนิยม สุดยอดหายาก
พระสมเด็จฐานผ้าทิพย์ เนื้อตะกั่วหลังยันต์ใบพัด
หลวงก๋งเป็นชาวบางปะกงโดยกำเนิดเกิดที่บ้านปากคลองยายเม้ย ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง แปดริ้ว เมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๗ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๒๙ โยมพ่อชื่อ บุญ โยมแม่ชื่อหมา นามสกุล บุญมี โดยที่หลวงก๋งเฉื่อยเป็นลูกชายคนโต และมีน้องสองคนคือนางฉ่ำ บุญมี และนางชุ่ม บุญมี เมื่ออายุได้ ๑๐ ขวบโยมทั้งสองได้นำมาฝากให้อยู่กับ"หลวงตาคง"เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดล่างบางปะกงเพื่อศึกษาเล่าเรียน ซึ่งหลวงตาคงรูปนี้เป็นพระที่มีวิชาอาคมแก่กล้า เป็นเพื่อนกันกับหลวงพ่อเปิ้น พุทฺธสโร วัดบ้านเก่า ตามประวัติกล่าวว่าท่านเป็นลูกจีนนอกบิดามารดาเป็นชาวจีนโพ้นทะเล อพยพจากเมืองจีนมาเข้าอ่าวบางปะกงขึ้นบกที่บางปะกงล่าง ตัวท่านมาเกิดที่บางปะกง ในวัยหนุ่มมีความสนใจในวิชาอาคม ได้ท่องเที่ยวไปสถานที่ต่างๆ เสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ จนได้ไปพบกับหลวงพ่อแก้ว วัดหนองตำลึง และอยู่ศึกษาวิชาอาคมที่วัดหนองตำลึง ที่วัดหนองตำลึงนี้ท่านได้มีเพื่อนร่วมสำนักหลายท่าน ที่สำคัญก็คือท่านหลวงพ่อเปิ้น พุทฺธสโร ต่อมาได้เป็นอุปัชฌาย์สมภารวัดบ้านเก่า และเจ้าคณะแขวงอำเภอพานทอง พอศึกษาวิชาอาคมจนพอใจแล้ว เมื่อบวชก็กลับมาบวชที่บ้านเกิดบางปะกงล่าง ครั้งนั้นบ้านบางปะกงล่างยังไม่มีวัด ท่านก็บวชกลางแม่น้ำบางปะกงโดยทำเป็น"อุทกุกฺเขปสีมา"หรือ"อุทกสีมา สีมากลางแม่น้ำ"ต่อมาท่านได้สร้างวัดที่บ้านบางปะกงล่างบนที่ดินอันเป็นมรดกตกทอดของท่าน มีชื่อว่าวัดล่างบางปะกง ต่อมาได้ตั้งชื่อเป็นทางการว่า"วัดบำรุงธรรมราษฎร์ศรัทธารามและท่านก็เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดล่างนี้ นี่เป็นประวัติพอสังเขปของหลวงตาคงผู้เป็นพระอาจารย์รูปแรกของหลวงก๋งเฉื่อย ทีนี้จะกล่าวถึงประวัติของก๋งเฉื่อยต่อ
ภาพหลวงพ่อพระครูเปิ้น พุทฺธสโร วัดบ้านเก่าเจ้าคณะแขวงอำเภอพานทอง
หลวงก๋งเฉื่อยท่านอยู่ศึกษาเล่าเรียนในสำนักหลวงตาคงวัดล่าง โดยได้ศึกษาหนังสือไทยและขอมจนแตกฉาน พอรุ่นหนุ่มก็ออกมาช่วยงานบิดามารดาที่บ้าน พออายุครบบวชก็ไปทำการอุปสมบทที่วัดบ้านเก่า ตำบลบ้านมอญ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะเส็ง พศ.๒๔๔๘ โดยมีหลวงพ่อพระครูเปิ้น พุทฺธสโร เจ้าคณะแขวงอำเภอพานทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์ล้วน สิริธโร วัดโคกท่าเจริญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระใบฎีกาจู สิริวฒฺโน วัดบ้านเก่า เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า"พระธมฺมโกโส" หลังจากที่อุปสมบทแล้วได้กลับมาจำพรรษาอยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงตาคงปฐมเจ้าอาวาสวัดล่างบางปะกง และได้ศึกษาพระธรรมวินัยวิปัสสนากรรมฐาน และศึกษาวิชาพุทธาคมต่างๆกับหลวงตาคง พร้อมกันนี้หลวงตาคงก็ยังถ่ายทอดวิชาแพทย์แผนโบราณยาสมุนไพรและวิชายาจีนต่างๆ นอกจากนี้ท่านยังได้ไปศึกษาวิชาอาคมจากอาจารย์ผู้ทรงคุณอีกหลายท่าน ที่สำคัญก็เช่นหลวงพ่อเปิ้นวัดบ้านเก่าอุปัชฌาย์ของท่าน กับท่านพระครูวิมลคุณากร(หลวงปู่ศุข เกสโร))วัดปากคลองมะขามเฒ่าเมื่อพศ.๒๔๖๒ครั้งที่มาปลุกเสกพระวัดหัวเนินแล้วมาแวะพักที่วัดบนคงคาราม ตอนนั้นหลวงพ่อสว่างเป็นเจ้าอาวาสวัดบนปีแรก ซึ่งหลวงพ่อสว่างนี้ก็เป็นสหธรรมมิกกันกับหลวงก๋งเฉื่อยมีอายุพรรษาแก่กว่า๑พรรษาเรียกว่ารุ่นราวคราวเดียวกัน ทั้งหลวงพ่อสว่างและหลวงก๋งเฉื่อยยังได้เคยร่วมเดินธุดงค์กับคณะหลวงพ่อปานวัดบางเหี้ยไปนมัสการพระบาทสระบุรีเมื่อครั้งเดินเลาะชายทะเลจากวัดบางเหี้ยมาแวะค้างแรมบิณฑบาตรน้ำจืดที่วัดบนคงคารามก่อนที่จะเดินต่อไปชลบุรีตอนนั้นมีพระร่วมเดินไปกับคณะหลวงพ่อปานเป็นร้อยรูปซึ่งต่อมาภายหลังได้เจริญพรรษายุกาลเป็นพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายรูปด้วยกัน ซึ่งต่างก็มีความรอบรู้ในวิชาพุทธาคมทั้งยังได้แลกเปลี่ยนวิชาอาคมกันจนแตกฉาน ยิ่งวิชาแพทย์แผนโบราณด้วยแล้วหลวงก๋งเฉื่อยท่านมีความชำนาญยิ่ง ท่านมีความรอบรู้ในสมุนไพรต่างๆเป็นจำนวนมาก จนสามารถวิเคราะห์โรคและทำนายอาการของโรคได้อย่างแม่นยำ จนเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไปตลอดทั้งจังหวัดใกล้เคียง ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยท่านเป็นผู้ที่มีเมตตาธรรมประจำใจ มีความกรุณาต่อชนทั่วไป ทั้งมีอัธยาศัยละมุนละไม เป็นพระที่เข้าหาได้ง่ายไม่ถือตัว แม้เมื่อเข้าสู่วัยชรามีพรรษายุกาลสูงแล้วก็ยังเมตตาสงเคราะห์อนุเคราะห์แก่ศิษยานุศิษย์ทั้งบรรชิตและคฤหัสสม่ำเสมอโดยเอนกปริยาย ในปีพศ.๒๔๖๕ หลังจากที่หลวงตาคงมรณภาพทหลวงก๋งเฉื่อยท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอธิการเฉื่อยเจ้าอาวาสวัดล่างบางปะกงรูปที่๒ ต่อมาวันที่ ๕ ธันวาคม พศ.๒๔๙๘ โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาติแก่องค์สกลมหาสังฆปรินายกให้ประทานตั้งประทวนสมณศักดิ์เป็น"พระครูเฉื่อย ธมฺมโกโส"
การสร้างวัตถุมงคล หลวงก๋งเฉื่อยนั้นท่านได้เริ่มสร้างวัตถุมงคลครั้งแรกท่านก็ลงตระกรุดแจกแก่ลูกศิษย์ของท่าน ซึ่งตระกรุดหลวงก๋งเฉื่อยนั้นหนาประมาณ ๒ มิล ยาว ๕ นิ้ว กว่าจะได้แต่ละดอกยากมาก เพราะท่านต้องลงอักขระซ้ำซากดอกละหลายๆครั้งตามอุปเท่ห์เลขมงคลต่างๆ และท่านจะม้วนกลับเอาอักขระไว้นอก พร้อมกับลงครั้งว่าดอกนี้กี่ครั้งๆ เช่น ๑๐๘ ครั้งพศ.๒๔๘๙ ก็จะลงว่า "๑๐๘ พส.๒๔๘๙" บ้างก็ "๒๔๙๘ ๑๐๘ครั้ง"ตามแต่ครั้งที่ลงและปีที่สร้าง เรื่องตระกรุดนี่ท่านสร้างเรื่อยๆตามแต่ลูกศิษย์จะมาขอ ซึ่งตะกั่วที่ท่านใช้นั้นตามตำราของท่านต้องเป็นลูกสะกดตะกั่วอวนใช้แล้วเท่านั้น โดยเบื้องต้นท่านจะลงอักขระปลุกเสกลูกสะกดเสียก่อนแล้วจึงทำการหลอมแล้วเทลงบนแม่พิมพ์สี่เหลี่ยมขนาดพอๆกับตระกรุด พอเย็นดีแล้วจึงนำมาตีแผ่ตัดให้ได้ขนาดเท่าที่ต้องการ ลูกศิษย์ที่อยู่ประจำคอยตีแผ่ตะกั่วก็มีหลายรุ่นหลายยุค เท่าที่ทราบก็"ตาแฉะ"คนหนึ่ง "ตาเก"อีกคนหนึ่ง เมื่อได้แผ่นตะกั่วตามที่ต้องการแล้วท่านจะดูฤกษ์ดูยามว่าวันนี้วันดีรึไม่ดี วันอธิบดีธงชัยท่านก็ลงจารตะกรุด วันอุบาทโลกาวินาสท่านก็ไม่ลง เพราะฉนั้นเรื่องตระกรุดก๋งเฉื่อยนั้นแต่ละดอกยิ่งมากครั้งก็ยิ่งใช้เวลานานท่านพิถีพิถันมากไม่สุกเอาเผากิน
อักขระอีกด้านของดอก ๑๕ ครั้ง ลักษณะการถักพันเชือกคล้ายๆของหลวงพ่อปานวัดบางเหี้ย
ดอกนี้เปลือยๆ เห็นลายมือลงจารอักขระของก๋งเฉื่อยชัดเจน
ตระกรุดหลวงก๋งเฉื่อยนี้ชาวบางปะกงลูกทะเลรู้จักสรรพคุณกันดี ลงน้ำลงทะเลป้องกันภยันตรายทางน้ำได้ชงัดนัก ตระกรุดโทนก๋งเฉื่อยนี้นี่แหละที่ลูกศิษย์คนสำคัญของท่านติดตัวไปแสดงอภินิหารปรากฏสรรพคุณเป็นที่ประจักษ์แก่สายพระเนตรแห่งเสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ท่านผู้นั้นก็คือพลเรือโท หลวงสุนาวินวิวัฒ (กิมเหลียง สุนาวิน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น พิศาล สุนาวินวิวัฒน์) คุณหลวงท่านนี้ท่านเป็นชาวบางปะกงเกิดที่บ้านบางปะกงล่าง เมื่อเจริญวัยได้เข้าไปศึกษาวิชาทหารเรือโดยเป็นศิษย์ในพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ต่อมาได้เจริญในหน้าที่การงานและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงขึ้นโดยลำดับ ตั้งแต่เป็นผู้บังคับการเรือรบหลวงต่างๆ จนกระทั่งเป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ ต่อมาได้ย้ายสังกัดจากข้าราชการทหารไปรับราชการพลเรือนก็ได้เจริญรุ่งเรืองในหน้าที่เริ่มตั้งแต่เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดคือเป็นเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ จนกระทั่งได้ดำรงค์ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคนที่ ๒๔ ของประเทศไทย
เมื่อประมาณปีพศ.๒๔๖๕-๒๔๗๐ ขุนสุนาวินวิวัฒ (บรรดาศักดิ์ในขณะนั้น) ได้นำพระสมเด็จหักๆที่มีผู้ที่นำไปไว้ตามวัดต่างๆในพระนครท่านได้รวบร่วมนำมาถวายให้หลวงก๋งเฉื่อยห่อใหญ่ ซึ่งชิ้นส่วนพระสมเด็จเก่าๆหักๆห่อนั้นเป็นพวกสมเด็จวัดระฆัง สมเด็จอรหัง พระวัดพลับและอีกหลายๆวัด ซึ่งเมื่อหลวงก๋งเฉื่อยท่านได้รับถวายห่อพระหักๆมาแล้วได้เล่ากันสืบต่อมาว่าท่านก็พิจารณาดูพระหักเหล่านั้น จึงได้มีความดำริที่จะสร้างให้เป็นองค์พระสมเด็จขึ้นใหม่ก็ได้ทยอยบดชิ้นพระสมเด็จเหล่านั้น โดยใช้ให้พระลูกศิษย์ช่วยกันบด ครั้งนั้นมีพระลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดหลายรูปได้ขอชิ้นพระสมเด็จวัดระฆังหักใต้เข่าบ้าง หักครึ่งองค์บ้างไปบูชาติดตัว ท่านก็ให้เอาไปไม่หวง ซึ่งก็ยังปรากฏอยู่กับลูกหลานของพระเหล่านั้นถึงปัจจุบันนี้หลายชิ้นหลายบ้าน
การสร้างพระสมเด็จครั้งแรกเริ่มตั้งแต่ปีพศ.๒๔๗๐ เป็นต้นมา หลวงก๋งเฉื่อยท่านสร้างเป็นพิมพ์สี่เหลี่ยมฐานสามชั้น ทาน้ำมันชันบ้างน้ำมันปลาตะเพียนบ้าง ด้านหลังท่านจะลงจารอักขระยันต์ใบพัดด้วยมือท่านเองทุกองค์ มีจำนวนน้อยมากแทบจะไม่ได้พบเห็นกันเลย


องค์นี้พิมพ์รัศมีห้าชั้นยุคแรกแต่เป็นเนื้อผงคลุกรักหายากมากได้พบเห็นแต่เพียงรูปภาพนี้เท่านั้นท่านเจ้าของกล่าวว่าได้รับมาจากหลวงพ่อจงวัดหน้าต่างนอก จ.อยุธยา
ตำนานการสร้างพระสมเด็จของหลวงก๋งเฉื่อยก็เริ่มมาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งผงมวลสารนั้น นอกจากผงพระสมเด็จดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ท่านยังมีผงที่ได้รับตกทอดมาจากหลวงตาคงอาจารย์ของท่าน นอกจากนี้ก๋งเฉื่อยท่านยังเขียนผงลบผงด้วยตัวท่านเอง กล่าวกันว่าท่านทำผงทะลุกระดานได้ ซึ่งวิชามโนมยิทธิเหล่านี้ ก๋งเฉื่อยท่านเคยทำให้เป็นที่ปรากฏเล่าขานกันมามากเช่นว่าเสกเทียนน้ำมนต์ให้ละลายทางโคนน้ำมนต์เดือดกันต่อหน้าต่อตาเป็นที่ประจักษ์แก่ลูกศิษย์ลูกหา ท่านได้สร้างพระสมเด็จพิมพ์ผ้าทิพย์และพิมพ์ซุ้มประตูมีทั้งเนื้อผงและเนื้อตะกั่วแจกในวาระต่างๆเรื่อยมา
พระสมเด็จหลวงก๋งเฉื่อยรุ่นนี้แกะพิมพ์ได้สวยงาม เป็นรูปองค์พระนั่งขัดสมาธิเพชรที่องค์พระในองค์ที่สมบูรณ์ จะปรากฏผ้าจีวรและสังฆาฏิชัดเจน ที่พระเกศมาลาจะมีเส้นรัศมี ประทับบนฐานบัว ๗ กลีบ ชั้นเดียว มีผ้าทิพย์ปูลาด สร้างด้วยเนื้อผงพุทธคุณผสมมวลสารผงสมเด็จวัดระฆัง และมีการทาเคลือบด้วยน้ำมันชนิดต่างๆ คือทาด้วยน้ำมันชันยาเรือบ้างน้ำมันปลาตะเพียนบ้างน้ำมันชแล็คบ้าง ซึ่งสีก็จะออกต่างกัน พิมพ์นี้เท่าที่ปรากฏมีเฉพาะเนื้อผงเท่านั้น
ด้านหลังเป็นแบบยันต์นูนแกะเป็นรูปยันต์ใบพัดบรรจุพระคาถา "ภะ คะ วา" องค์ในรูปนี้เนื้อจัดมาก ทาน้ำมันชัน แห้งแตกลายงาเป็นธรรมชาติทั้งด้านหน้าและด้านหลัง องค์นี้ชนะเลิศที่ ๑ งานแปดริ้ว พศ.๒๕๕๒ และติดที่ ๒ งานพัทยา ๒๕๕๓
องค์นี้ทาน้ำมันตราปลาตะเพียนชนิดที่ใช้ทาตู้ไม้สักโบราณ สีเหมือนสีตู้ไม้สักเก่าๆ สภาพสวยสมบูรณ์เกือบ๑๐๐%องค์พระติดชัดเห็นเส้นรัศมีที่พระเกศรำไรๆ เส้นสายลายจีวรผ้าสังฆาฏิคมชัดดูคลาสสิค
ด้านหลังยันต์ใบพัดติดชัดเจนสวยงาม
องค์นี้นี่ลงทะเลมาโชกโชน
องค์นี้หล่อได้สมบูรณ์สวยงาม ผิวยังมีคราบปรอทรำไรๆ เห็นยันต์นะมะพะทะข้างองค์พระชัดเจน บัวติดครบทุกเม็ด
ด้านหลังเป็นยันต์ใบพัด ภะ คะ วา มะ อะ อุ
องค์นี้พอสวย คราบปรอทน้อย บัวติดไม่ครบหายไปหนึ่งเม็ด
ด้านหลังยันต์ติดชัดเจนดี
พระสมเด็จก๋งเฉื่อย พิมพ์ซุ้มประตู เนื้อผง
พิมพ์นี้จะมีขนาดเล็กกว่าพิมพ์ผ้าทิพย์ เรียกว่ากระทัดรัด การแกะพิมพ์ก็สวยงามอลังการเป็นรูปองค์พระนั่งขัดสมาธิเพชรบนบัวสองชั้น วงการมักเรียกกันว่านังขาไกว้ อยู่ในซุ้มเรือนแก้วสองชั้น แต่ลูกศิษย์ก็เรียกง่ายๆว่าซุ้มประตู สร้างสองเนื้อคือเนื้อผงและเนื้อชินตะกั่ว ในภาพเป็นเนื้อผงสภาพสมบูรณ์ ๙๙% เป็นพระเก็บไม่ผ่านการใช้ น้ำมันแห้งสนิททั้งด้านหน้าด้านหลัง
ด้านหลังของเนื้อผงจะเป็นยันต์ใบพัด ภะ คะ วา มะ อะ อุ
ด้านหลังยันต์ใบพัดภะ คะ วา มะ อะ อุ น้ำมันแห้งสนิทส่องแล้วซึ้งตา องค์น้ำมันแตกลายงานี้เคยติดรางวัลที่ ๑ งานแปดริ้วการันตี
องค์นี้พอสวย ผ่านการใช้มาพอสมควร เส้นสายลายซุ้มประตู้ยังอยู่ครบ น้ำมันหลุดลอกเห็นเนื้อในหนึกนุ่ม
ที่นี้จะกล่าวถึงพระพิมพ์ซุ้มประตูเนื้อชินตะกั่ว ซึ่งก็มีพิมพ์ทรงคล้ายกันกับเนื้อผงต่างกันที่ยันต์ด้านหลังเนื้อตะกั่วจะเป็นยันต์นะเก้าหน้าและมีสองพิมพ์คือยันต์เต็มและยันต์ขาด เนื้อตะกั่วที่ก๋งเฉื่อยใช้นำมาสร้างก็เป็นตะกั่วอวน ท่านนำมาลงยันต์แล้วหลอม หลอมแล้วตีเป็นแผ่นนำมาลงยันต์แล้วหลอมอีกทำอย่างนี้ ๑๐๘ ครั้ง เสร็จแล้วถึงจะนำมาเทพิมพ์พระ ซึ่งในแต่ละครั้งก็จะได้พระพอประมาณไม่มากนักเนื้อตะกั่วของพระก๋งเฉื่อยจึงเนื้อจัด คล้ายๆพระของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า
องค์นี้หลังยันต์เต็ม สวย
องค์นี้ก็เป็นพิมพ์ยันต์ขาด
ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๗๒-๒๔๗๓ หลวงก๋งเฉื่อยได้ทำการก่อสร้างหอสวดมนต์ขึ้น๑หลังจึงได้สร้างพระสมเด็จขึ้นอีกหนึ่งรุ่นโดยทำเป็นพิมพ์พระนั่งบัวสองชั้น ฐานห้าชั้นไม่มีผ้าทิพที่ปลายพระเกศมาลาไม่มีรัศมี เนื้อผงลงน้ำมัน ลักษณะคล้ายๆกันกับพิมพ์ผ้าทิพย์
พระหลวงก๋งเฉื่อยเนื้อผงพิมพ์พิเศษหลังยันต์ มีเนื้อผงกับเนื้อตะกั่ว สร้างจำนวนน้อยหาชมยากมาก
พระสมเด็จก๋งเฉื่อยพิมพ์รัศมีหลังอุ พระสมเด็จพิมพ์นี้เป็นอีกพิมพ์หนึ่งที่หลวงก๋งได้เริ่มสร้างแจกในปีพศ.๒๔๙๘ ในวาระที่ท่านได้รัพระราชทานตั้งประทวนสมณศักดิ์เป็นพระครูเฉื่อย ธมฺมโฆโส สมเด็จพิมพ์นี้มีสองขนาดคือเล็กกับใหญ่โดยใช้มวลสารเดียวกันกับพระพิมพ์รุ่นปีพศ.๒๔๗๕ และทาน้ำมันชนิดเดียวกัน โดยแกะพิมพ์เป็นรูปพระพุทธนั่งขัดสมาธิราบบนฐาน ๕ ชั้นมีเส้นพระรัศมีรอบพระเศียร ๑๕ เส้น
(โปรดติมตามตอนต่อไป ที่นี่ เร็วๆนี้)
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)